วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ในหลวงของเรากับเทคโนโลยี

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ

2) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร

3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

4) โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่พลุ

5) โครงการบรรเทาอุทกภัย





อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายๆ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่างพร้อมกันไป อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแก้มลิง เป็นต้น
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พอสรุปได้ดังนี้


1. ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดู แล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้นและสามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ เป็นการช่วยให้ราษฎรมีรายได้มากขึ้น

2. ในบางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรโครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นที่แห้งจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ช่วยให้ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกินแห่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของธรรมชาติไว้ได้

3. เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ไว้ และมีการปล่อยพันธุ์ปลา ทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงสามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัว หรือมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น

4. ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย

5. บางโครงการจะเป็นประเภทเพื่อเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร ซึ่งช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคเอชนและภาครัฐบาลเป็นอันมาก

6. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดารได้มีไฟฟ้าให้สำหรับแสงสว่างในครัวเรือนได้

7. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักบริเวณน้ำลำธารเป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธารทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธารเขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียกสำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนวกระจายไปทุ่งบริเวณต้นน้ำลำธาร ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป


กล่าวได้ว่างานพัฒนาแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำทุกอย่าง ทุกขั้นตอนดังที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด เล่าให้ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๕-๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘ ดังนี้“...งานของพระองค์ท่านมีตั้งแต่ ถ้าน้ำขาดแคลนก็จัดหาน้ำ และเมื่อน้ำท่วม น้ำมากก็จัดการบรรเทาให้น้อยลง เมื่อมีน้ำเน่าเสียก็จ้องจัดการทำงานด้านน้ำทั้งหมด ท่านจะทราบปัญหาอย่างละเอียด…”ตัวอย่างโครงการประกอบด้วย


โครงการแก้มลิง


“...เมื่ออายุ ๕ ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันเคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง “โครงการแก้มลิง” นี้มีที่เกิด เมื่อเราอายุ ๕ ขวบ ก็นี่เป็นเวลา ๖๓ ปี มาแล้ว ลิงสมัยโน้นลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว เขาเคี้ยว แล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘



โครงการแก้มลิงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยการขุดลอกคลองชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองพักน้ำขนาดใหญ่หรือ “แก้มลิง” แล้วระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก หรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันโครงการแก้มลิงยังได้ขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

การเกษตร
“ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของภาคเกษตรเป็นสำคัญ”พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย ประชากรประมาณสองในสามอยู่ในภาคเกษตร การพัฒนาการเกษตรเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศมาตลอด สาขาการเกษตรเป็นสาขาที่ได้รับความสำคัญอย่างสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ คือ การที่ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ ทั้งพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา ฯลฯ และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูก ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย และไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้และที่สำคัญ คือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยอย่างไรก็ตาม มีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะในด้านอาหารก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ
แนวทางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการที่ทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะเกิดความเสียหายง่าย เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดและความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ทางออกคือทรงสนับสนุนให้ทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงและมีรายได้ตลอดปี ขณะเดียวกันเกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การอุตสาหกรรมในครัวเรือน ดังเช่นในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทำงานหัตถกรรม โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดรายได้เสริมอีกทางหนึ่งนอกจากนั้นทรงเห็นว่า การพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งต่อการที่จะทำนุบำรุง ปรับปรุงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ ให้อยู่ในสภาพที่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด จากแนวทางและเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าว มีแนวพระราชดำริที่ถือเป็นหลักเกณฑ์หรือเทคนิควิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นหลายประการ ประการแรก ทรงเห็นว่าการพัฒนาการเกษตรที่จะได้ผลจริงนั้น จะต้องลงมือทดลองค้นคว้า ต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังพระราชดำรัวความว่า “...เกษตรกรรมนี้ หรือความเป็นอยู่ของเกษตรนั้นขอให้ปฏิบัติ ไม่ใช่ถือตำราเป็นสำคัญอย่างเดียว...” และเป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำให้อาณาเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐานบางส่วนเป็นสถานีค้นคว้า ทดลอง ทางการเกษตรในทุกๆ ด้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ สำหรับการค้นคว้าทดลองนั้น ได้ทรงเน้นให้มีทั้งก่อนการผลิตและหลังการผลิต คือ พิจารณาดูตั้งแต่เรื่องความเหมะสมของพืช ความเหมาะสมของดิน พืชอย่างใดจะเหมาะสมกับดินประเภทใด รวมทั้งการค้นคว้าเกี่ยวกับความต้องการของตลาด คือ การปลูกพืชที่ตลาดต้องการ ผลิตออกมาแล้วมีที่ขาย ส่วนการค้นคว้าวิจัยหลังการผลิต คือ การดูเรื่องความสอดคล้องของตลาด เรื่องคุณภาพของผลผลิต หรือทำอย่างไรจึงจะให้เกษตรกรได้มีความรู้เบื้องต้นในด้านการบัญชีและธุรกิจเกษตรในลักษณะที่พอจะทำธุรกิจแบบพึ่งตนเองได้ สำหรับในเรื่องนี้ทรงเห็นว่า การรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาวพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะให้เกษตรกรได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีสภาพชีวิตที่มีความสุขไม่เคร่งเครียดกับการเร่งรัดให้เกิดความเจริญโดยรวดเร็ว นอกเหนือจากเรื่องที่ทรงเน้นในเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว จะเห็นได้ชัดเจน จากพระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่ว่า“...ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยและทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผล ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน...”เทคนิควิธีการในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น การใช้ที่ดินที่ปล่อยทิ้งไว้ว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ หรือการมองหาประโยชน์จากธรรมชาติในสิ่งที่ผู้อื่นนึกไม่ถึง เช่น ครั้งหนึ่งทรงสนับสนุนให้มีการทำครั่งจากต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ ริมทางหลวงที่จะเสด็จฯ ไปวังไกลกังวล มีพระราชดำรัสความว่า“...เกิดจากความคิดที่จะเอาต้นก้ามปูมา ทำให้ประชาชนมีงานทำแล้วรวมเป็นกลุ่ม...”การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่ง คือ การประหยัด ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ โค กระบือในการทำนามากกว่าให้ใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยจะทรงสนับสนุนให้เกษตรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพของดินในระยะยาว นั่นคือทรงสนับสนุนให้ทำการเกษตรอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังทรงแนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพ อันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือรายได้นอกการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ของตนเอง โครงการพัฒนาด้านการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ประกอบด้วยงานหลายประเภท ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้วจะเป็นงานเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จจากการศึกษาทดลอง ไปถ่ายทอดสู่ประชาชน ด้วยการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยโครงการเพื่อการส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวและทำนาขั้นบันได อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส โครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ บ้านแดนสามัคคี อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล ความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่น และของประเทศชาติโดยส่วนรวม





ส่งเสริมอาชีพ

สำหรับการส่งเสริมอาชีพนั้น หากเป็นโดยทางอ้อมแล้วโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ เมื่อได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วจะทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้งหลายนั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะให้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ส่วนโครงการประเภทการส่งเสริมอาชีพโดยตรงนั้นมีจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังเช่น โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการอื่นๆ อีกมาก ซึ่งโครงการเหล่านี้ผลสุดท้ายของโครงการคือประชาชนที่อยู่ในเป้าหมายโครงการสามารถที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพจนทำให้เกิดรายได้กับครอบครัว อาทศิลปาชีพพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะประจำชาติยิ่งนัก จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะให้คงอยู่ โดยทรงให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ที่มีรายได้น้อยเพราะต้องเผชิญอุปสรรคในการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่แปรปรวนอยู่เสมอทำให้รายได้จากผลผลิตมีไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัวในขณะเดียวกัน ศิลปะหัตถกรรมของไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่าเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาลกำลังเสื่อมสูญไปเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันโครงการศิลปาชีพได้จัดตั้งขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีมากกว่า ๑๕๐ แห่ง เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ดังเมื่อครั้งอดีต พระองค์ทรงเน้นการนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมเป็นหลัก และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทรงคัดเลือกสมาชิกศิลปาชีพจากครอบครัวราษฎรที่ยากจน ไร้ที่ทำกินและมีบุตรมากจากทั่วทุกภาคของไทยเข้ามารับการฝึกศิลปหัตถกรรมในศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ เช่น ที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา อันเป็นโรงฝึกศิลปาชีพที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการสอนงานด้านศิลปะในแขนงต่างๆ เช่น เครื่องถม เครื่องเงิน แผนกทอผ้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำในการใช้ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักรสาน ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากชุดฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่ในโอกาสต่างๆ อีกด้วย
โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี
โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่โครงการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินร่วมกันตามหลักการฟื้นฟูและสร้างสมดุลในระบบนิเวศน์ ด้วยการปลูกพืชผสมผสานและปลูกผักกางมุ้ง ลดการใช้สารเคมี การเลี้ยงไก่ และการประกอบอาชีพหัตถกรรมเพื่อให้ราษฎรดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน





สิ่งแวดล้อม


ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการทีเหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง




โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้๑. ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินในช่วยระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิตและรายได้ของประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่าการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่จนถึงขณะนี้ประมาณได้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และพยายามหาพื้นที่ชดเชยด้วยการอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่กระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะการใช้ที่ดินกันอย่างขาดความระมัดระวังและไม่มีการบำรุงรักษาซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ปัญหาเหล่านี้หากไม่รีบแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมากสำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้ได้ใช้ประโยชน์ ดังเช่น โครงการแกล้งดิน ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสไว้ดังนี้“..ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชทำการทดลองควรเป็นข้าว...”“...ที่ที่น้ำท่วมที่หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในเรื่องการทำมาหากินอย่างมหาศาล...”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดินทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพและการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับการเกษตร ดังนี้๑.๑ สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินและสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ดังพระราชดำรัสความว่า“...การปรับปรุงที่ดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไปสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน...” ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเพื่อทำการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินดาน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้นอกจากนั้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้นว่า ให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน เพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ ประหยัด และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนัก และได้พระราชทานพระราชดำริอีกกว่า ๒๐ ครั้ง เกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ดังเช่น เมื่อวัน ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับหญ้าแฝกตอนหนึ่งว่า“...ปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศเป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันของร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกมีหลักวิธีดังนี้ จะช่วยการป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงในน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น...”การดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทรงเน้นอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้จะต้องชี้แจงให้ราษฎรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์มีส่วนร่วมและลงมือลงแรงด้วย๑.๒ การจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน พัฒนาที่ดินว่างเปล่าแล้วจัดสรรให้เก่เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐานให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขาให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่งโดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไปี้ในการจัดพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลักการว่า ต้องวางแผนการจัดให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศช่วยการจัดสรรพื้นที่ทำกินควรจัดสรรตามแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทานเป็นหลักปัญหาการขาดแคชนที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหาจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการทำการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า“...ทฤษฎีใหม่...เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมากแต่ก็พอกินไม่อดอยาก...”เป็นการพัฒนาพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ด้วยการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล ทฤษฎีใหม่ เป็นการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนคือ - ร้อยละ ๓๐ ที่หนึ่งสำหรับปลูกข้าว - ร้อยละ ๓๐ ที่สองสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน - ร้อยละ ๓๐ ที่สามสำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้ในการเกษตร รวมถึงเลี้ยงปลาไว้บริโภค - ร้อยละ ๑๐ สุดท้ายเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมกับปลูกพืชสวนครัวในลักษณะแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีกินตลอดทั้งปี๒. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรและอาศัยน้ำฝน จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้โดยที่มีการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารและพัฒนาป่าไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายความชุ่มชื้นจะเกิดขึ้นและจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในที่สุด โดยพระราชทานพระราชดำริให้มีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ความว่า“...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขี้ยวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...”ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น ๒ ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ“..Check Dam มี ๒ อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...”อาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้นประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเองการสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า“...สำหรับ Check Damชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไร ไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ“...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูง ที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน ๒ เดือน...การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยง และประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงจะโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้...
๓. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่มนุษยชาติ ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศให้อยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธาร พรรณพฤกษชาติและสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอย ประกอบอาชีพด้านการทำป่าไม้ เก็บของป่าการอุตสาหกรรม การผลิตไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้และของป่า แต่สภาพปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและเผาถ่าน อีกทั้งมีการก่อสร้างถนน สร้างเขื่อนทำให้มีการตัดไม้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันช่วยถนอมน้ำไว้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย สำหรับวิธีการปลูกป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลายวิธี ดังเช่น
การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ที่ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งมี ๓ วิธีคือ“...ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว...”“...ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น...”“...ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม้ไม่สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้...”

คำถามท้ายบทเรียน

แบบฝึกหัดท้ายบท

1. คำว่า Communis แปลว่า คล้ายคลึง หรือร่วมกัน
2. การสื่อความหมาย หมายถึง กระบวนการส่งหรือถ่ายทอดความรู้ เนื้อหา สาระ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ค่านิยม ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์จากบุคคลฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ผู้ส่งไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้รับ
3. Sender --> Message --> Channel --> Receiver
4. สาร หมายถึง เนื้อหา สาระ ความรู้สึก ทัศนคติ ทักษะ ประสบการณ์ ที่มีอยู่ในตัวผู้ส่ง หรือแหล่งกำเนิด
5. Elements หมายถึง องค์ประกอบย่อย ๆ พื้นฐานที่จำเป็นต้องมี
ตัวอย่างเช่น สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ หรือสีแดง สีเหลือง เส้น เป็นต้น
6. Structure หมายถึง โครงสร้างที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบย่อย ๆ มารวมกัน
ตัวอย่างเช่น คำ ประโยค รูปทรง
7. Content หมายถึง เนื้อหาหรือข้อมูล ของผู้ส่ง
ตัวอย่างเช่น รายละเอียด ส่วนประกอบย่อย ๆ
8. Treatment หมายถึง วิธีการทำ หรือ รูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น แบบการส่งข่าวสาร
9. Code หมายถึง รหัส คือ คำพูด หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
ตัวอย่าง เช่น ประโยคคำถาม คุณไปไหนมา
10. อุปสรรคหรือสิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงดังรบกวน อากาศร้อน แสงแดด
11. อุปสรรคหรือสิ่งรบกวนภายใน เช่น ความเครียด อารมณ์ขุ่นมัว อาการเจ็บป่วย
12. Encode หมายถึง การเข้ารหัส
13. Decode หมายถึง การถอดรหัส
14. จงอธิบายการสื่อความหมายในการเรียนการสอนมาให้ครบถ้วนและถูกต้อง
ตอบ กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการสื่อความหมายอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบคือ ครู เนื้อหา,หลักสูตร สื่อ/ช่องทาง นักเรียน และผลย้อนกลับ
1. ครูในฐานะเป็นผู้ส่งสาร และเป็นผู้กำหนดจุดมุ่งหมายของการสอน ครูจึงควรมีพฤติกรรมดังนี้
1.1 ต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนเป็นอย่างดี
1.2 มีความสามารถในการสื่อความหมาย เช่น การพูด การเขียน ลีลา ท่าทาง ฯลฯ
1.3 ต้องจัดบรรยากาศในการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
1.4 ต้องวางแผนจัดระบบการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
2. เนื้อหา หลักสูตร ตลอดจนทัศนคติ ทักษะ และประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียน ดังนั้นเนื้อหาควรมีลักษณะดังนี้
2.1 เหมาะสมกับเพศและวัยของผู้เรียน
2.2 สอดคล้องกับเทคนิค วิธีสอน หรือสื่อต่าง ๆ
2.3 เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเวลา ควรปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

3. สื่อหรือช่องทาง เป็นตัวกลางหรือพาหนะที่จะนำเนื้อหาจากครูผู้สอนเข้าไปสู่ภายในของผู้เรียน ลักษณะของสื่อควรเป็นดังนี้
3.1 มีศักยภาพเหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหา
3.2 สอดคล้องกับธรรมชาติของประสาทสัมผัสแต่ละช่องทาง
3.3 เด่น สะดุดตา ดูง่าย สื่อความหมายได้ดี
4. นักเรียนหรือผู้เรียน เป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนจึงควรมีลักษณะดังนี้
4.1 มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะประสาทสัมผัสทั้ง 5
4.2 มีความพร้อมทางด้านจิตใจ อารมณ์มั่นคงปกติ
4.3 มีทักษะในการสื่อความหมาย
4.4 มีเจตคติต่อครูผู้สอนและเนื้อหาวิชา
15. จงอธิบายถึงความล้มเหลวของการสื่อความหมายในการเรียนการสอน
ตอบ การเกิดความล้มเหลวของการสื่อความหมายในการเรียนการสอน เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ ดังนี้
1. ครูผู้สอนไม่บอกวัตถุประสงค์ในการเรียนให้ผู้เรียนรทราบก่อนลงมือสอน ทำให้ผู้เรียนขาดเป้าหมายในการเรียน
2. ครูผู้สอนไม่คำนึงถึงข้อจำกัดและขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน จึงมักใช้วิธีสอนแบบเดียวกันทุกคน
3. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะจัดบรรยากาศ ขจัดอุปสรรคและสร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนก่อนลงมือสอน
4. ครูผู้สอนบางคนใช้คำยาก ทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายของคำ และเนื้อหาโดยรวม
5. ครูผู้สอนมักนำเสนอเนื้อหาวกวน สับสน รวดเร็ว ไม่สัมพันธ์ต่อเนื่อง กระโดดไปมา ทำให้เข้าใจยาก
6. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะใช้สื่อการสอนหรือเลือกใช้สื่อการสอนไม่เหมาะสมกับเนื้อหา และระดับของผู้เรียน

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความหมายของนวัตกรรมทางการศึกษา

นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำรวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียนและช่วย

ให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย การใช้วีดีทัศน์เชิงโต้ตอบ(Interactive Video)

สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น

นวัตกรรมทางการศึกษา

นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่การศึกษา

นวัตกรรม Innovation digital Instructional media การศึกษาทางไกล สื่อการเรียนการสอน

ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผนวกกับความพากเพียรอุตสาหะได้รังสรรค์สิ่งใหม่ๆออกมาในโลกอยู่ตลอดเวลา เราเรียกสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ว่านวัตกรรมนวัตกรรมตรงกับคำว่า “innovation” ในภาษาอังกฤษ โดยที่ในภาษาอังกฤษคำกริยาว่า innovate นั้นมีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า innovare ซึ่งแปลว่า “to renew” หรือ ทำขึ้นมาใหม่ คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิด คิดว่านวัตกรรมเป็นคำที่เกี่ยวข้องเฉพาะสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเรื่องนี้สมเด็จพระเทรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอธิบายไว้ในการแสดงปาฐกถาเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม กับการพัฒนาประเทศในการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“... คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้ายิ่งใน ภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรมของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม...นวัตกรรมทางด้านการเรียนรู้ก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยวิถีคิด ที่ออกนอกกรอบเดิมพอสมควร คือจะต้องออกนอกร่องหรือช่องทางเดิมๆที่เคยชิน เรียกได้ว่าจะต้องพลิกกระบวนทัศน์ (shift paradigm) ที่มีอยู่เดิมเกี่ยวกับการเรียนรู้เสียใหม่ จากที่เคยเข้าใจว่า การเรียนรู้ก็คือการศึกษาเพียงเพื่อให้ได้รู้ไว้ มาเป็นการเรียนรู้ที่นำมา ใช้พัฒนางาน พัฒนาชีวิต ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้แบบหลังนี้จึงเป็นความรู้ชนิดที่แนบแน่นอยู่กับงาน เกี่ยวพันอยู่กับปัญหา เป็นความรู้ที่มีบริบท (context-riched) ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ลอยๆ ไม่สัมพันธ์หรืออิงอยู่กับบริบทใดๆ (contextless) การเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาตัวโจทย์ขึ้นมาก่อนโดยใช้ปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเป็นหลัก เรียกได้ว่ามีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการเรียนรู้นี้ขึ้น การเรียนรู้ประเภทนี้เรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้แบบอุปสงค์ หรือแบบต้องการ (demand-side learning) คือ มีความประสงค์ มีความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง แล้วจึงเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบที่เราคุ้นเคยกันดีในระบบการศึกษา ที่มักจะเน้นการถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่นักเรียน คือจากผู้รู้ไปสู่ผู้เรียน คือมีลักษณะ เป็นการเรียนรู้แบบอุปทาน หรือจัดหาให้ (supply-side learning) ซึ่งข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนของการเรียนรู้แบบนี้ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูต้องคอยป้อน(ยัด) ความรู้เหล่านี้เข้าปาก(หัว) ผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา โดยมักจะใช้การประเมิน การวัดผล หรือการสอบ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ผลักหรือดันให้คนหันมาสนใจ ตั้งใจเรียน การเรียนรู้แบบนี้ครูจึงมีหน้าที่หลักในการผลักหรือ “push” ให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่า ที่จะปล่อย ให้ผู้เรียนฉุดหรือดึง” (pull) ตัวเองไปโดยใช้ความสนใจหรือความต้องการที่จะเรียนรู้เป็นตัวดึง ซึ่งก็คือแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเองโดยไม่ต้องให้ใครมาออกแรงผลัก ออกแรงดันดังเช่นที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้

วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ประวัติส่วนตัว




ชื่อ : ณัฐวิภา แดงน้อย


ที่อยู่ : 433/10 ถ.ศรีสุริยวงศ์ ต.หน้าเมือง
อ. เมือง จ. ราชบุรี 70000.


การทำงาน : ครูเด็กเล็ก
(ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองราชบุรี)


การศึกษา : ปริญญาตรี บธ.บ (การบริหารทรัพยากรมนุษย์)
มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง


ปัจจุบัน : กำลังศึกษาต่อประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
ณ. ศูนย์ราชโบริกานุเคราะห์ รุ่นที่ 10 เลขที่ 25

ความหมายของเทคโนโลยี


เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์และสังคมให้มี
ความเจริญงอกงามในทุกๆ ด้าน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
กระบวนการให้การศึกษาได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับมนุษย์และสังคมแต่ละยุคสมัย
มาโดยตลอด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาได้พยายามคิดค้นหาวิธีใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนา
กระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนทำให้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้า
มาช่วยในวงการศึกษาและงานสาขาต่าง ๆ มากมาย

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเพิ่มประสิทธิภาพการสอน


เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้จัดการสนเทศ
เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การรวบรวมการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้และการดูแลข้อมูล โดยเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสามารในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบ เช่นในการสอบแข่งขันที่มีผู้สอบจำนวนมาก ก็มีการใช้ดินสดระบายตามช่องที่เลือกตอบ หรือในห้องสมุดก็พบว่าหนังสือมีรหัสแท่งเช่นเดียวกัน การใช้รหัสแท่งเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล
2. การประมวลผล ข้อมูลที่เก็บได้จะเก็บในสื่อต่าง ๆ เช่น แผ่นซีดี หรือเทป ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลตามต้องการ เช่นแยกแยะข้อมูลเป็นกลุ่ม เรียงลำดับข้อมูล
3. การแสดงผลลัพธ์ อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีในการแสดงผลลัพธ์มีมาก เช่นสามรถแสดงเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ เป็นต้น
4. การทำสำเนา เมื่อมีข้อมูลที่จัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การทำสำเนาจะทำได้ง่าย และทำได้เป็นจำนวนมาก
5. การสื่อสารโทรคมนาคม เป็นวิธีการที่จะส่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เช่น โทรเลข โทรศัพท์ เส้นใยนำแสง เคเบิ้ลใต้น้ำ ดาวเทียม เป็นต้น

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหา 3 ประการคือ
1. จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาจำนวนผู้เรียนมากขึ้น ผู้เรียนไม่มีที่เรียน ขาดแคลนผู้สอบ
2. การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้ระบบการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยน เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ประชาชน
3. การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา ซึ่งมีผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิชาการใหม่ ๆ

จากเหตุผลดังกล่าว การที่ครูผู้สอน ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในด้านการสอนจะเพิ่มประสิทธิภาพได้มากเพราะ
1. เทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้ครูผู้สอนมีเวลามากขึ้น เพราะมันมีความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูล จัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูลได้มากและรวดเร็วแม่นยำ
2. เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถตอบสนองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ตอบสอนงความสนใจ และความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนได้ดี
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ครูสามารถจัดทำสื่อการเรียน การสอน เช่นคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ซีดีรอม ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ อยากเรียนรู้ และเข้าใจได้ง่ายขึ้น
4. เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เช่น การเรียนรู้ด้วยตนจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์
5. เทคโนโลยีทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ทุกคนมีโอกาสที่จะศึกษาได้หลายรูปแบบ เช่นการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย


สรุป

ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเพิ่มประสิทธิภาพการสอนให้กับครู เพราะครูมีเวลามากขึ้น ลดขั้นตอนในการทำงาน สามารถคิดค้นสื่อการเรียน การสอนที่ทันสมัย ตรงกับความสนใจ และความแตกต่างของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้ ส่งผลให้เยาวชนไทยมีคุณภาพด้านการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพด้านการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ประเทศชาติก็สามารถพัฒนาไปได้ สังคมก็จะอยู่ร่วมกั้นยอย่างเป็นสุข